นิด้า

นิด้า กับเทรนด์การศึกษาศตวรรษที่ 21 ‘Lifelong Learning’

‘นิด้า’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาให้มีภาวะความเป็นผู้นำ เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และให้บริการวิชาการด้านการบริหารการพัฒนาเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดย รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ ได้เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ยุคดิจิทัล และเทรนด์ของการศึกษาแนวใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ นิด้า ให้ความเห็นถึงการศึกษาไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก

จากเดิมเมื่อพูดถึงการศึกษาจะหมายถึงการเข้าห้องเรียน ฟังการบรรยายจากครูอาจารย์ หากต้องการความรู้มากกว่าในห้องเรียนต้องเข้าห้องสมุด ‘มหาวิทยาลัย’ ซึ่งหมายถึงที่อยู่จักรวาลของวิชาการหรือที่สถิตของความรู้อันยิ่งใหญ่ มีหน้าที่ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตออกไปประกอบอาชีพและรับใช้สังคม

กระทั่งโลกเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งได้มีการพัฒนาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและทะลุทะลวงไปทุกอาณาบริเวณ ความรู้ที่มีมหาศาลในโลกใบนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนกับห้องสมุดเพียงเท่านั้น แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เพียงแค่คลิกเข้าสู่อินเทอร์เน็ต ทุกคนก็สามารถท่องจักรวาลความรู้ได้ในทุกกาละและเทศะอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“นอกจากส่งผลให้รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เทคโนโลยียังมีการพัฒนามากขึ้น ระบบเศรษฐกิจของทุนนิยมสมัยใหม่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น มีนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น เกิดงานใหม่ๆ ทำให้ความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะที่สถาบันการศึกษาเริ่มปรับตัวไม่ทัน บางคนจึงบอกว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยบางหลักสูตรไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก”

“จากเดิมที่การศึกษานำการเปลี่ยนแปลง แต่วันนี้กลับกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงนำการศึกษา ทำให้คนและสถาบันต่างๆต้องปรับตัว แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังจะต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพราะสังคมที่ดีต้องนำด้วยความรู้และปัญญา นับเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของวงการการศึกษา”

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ นิด้า กล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของโลกยุคดิจิทัล และตอบโจทย์ผู้เรียนได้นั้น จะไม่ใช่เพียงการศึกษาในแบบ Classroom-based Education แต่เป็นการทำให้คนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

“เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้มีความสำคัญอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้เราอาจไม่คุ้นชินกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่เราจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับแล้วก็ต้องมีความสมดุลด้วย เพราะหากมีความเป็นดิจิทัลมากเกินไป ก็จะทำให้ขาดความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิด้า หรือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่มุ่งเน้นศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาและการบริหารจัดการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ หัวใจสำคัญในการบริหารการพัฒนาควรต้องเริ่มที่มนุษย์และความเป็นมนุษย์ นิด้าจึงมุ่งเน้นการเป็นนักพัฒนาที่มีความเป็นมนุษย์และมีทักษะที่ทันต่อโลกยุคใหม่ สามารถนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้คนเรียนรู้และพัฒนาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ที่นิด้าของเรา ยังมีหลักสูตรแนวดิจิทัลอย่างเช่นคณะสถิติประยุกต์ และมีอาจารย์ที่เก่งทางด้านไอทีหลายท่าน”

ที่ผ่านมา หลักสูตรของนิด้าส่วนใหญ่เป็นการเรียนแบบออนไซต์ แต่เรากำลังมีการออกแบบหลักสูตรสำหรับการเรียนออนไลน์ 100% เพื่อรองรับผู้ที่ต้องการเรียนแต่ติดด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ เริ่มจากคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ส่วนหลักสูตรต่อไปสำหรับการเรียนออนไลน์ 100% กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบและขับเคลื่อน

ขณะเดียวกัน เทรนด์ของการศึกษาแนวใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 คือ ‘Lifelong Learning’ หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นทักษะในการปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว กลายมาเป็นหลักการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต รศ.ดร.สมบัติ เผยถึงเรื่องนี้ว่า นิด้าให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกัน

“การเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อก่อนเรียนจบปริญญาตรีก็เพียงพอแล้ว แต่ในวันนี้ไม่ใช่ โดยมีรายงานที่น่าสนใจจาก World Economic Forum ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานในอนาคต จะมีการเกิดขึ้นของลักษณะงานที่จำเป็นต้องใช้ทักษะใหม่ๆ”

รศ.ดร.สมบัติ ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีโครงการเพิ่มทักษะอาชีพและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Skills for the Future) เนื่องจากต่อไปคนจะต้องทำงานกับ AI มากขึ้น สิงคโปร์จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาทักษะให้ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต

“การที่คนจะมีทักษะใหม่ๆ เขาต้องเรียนรู้ บางครั้งเรียนรู้ในหลักสูตรเดิมแล้วออกแบบเป็นการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท ปัจจุบันนี้ก็มีธนาคารหน่วยกิตการศึกษาซึ่งเป็นระบบสำหรับผู้ที่ต้องการสะสมหน่วยกิตหรือผลการเรียนรู้ หากคิดว่าในอนาคตเรามีความต้องการทักษะไหน หรือถ้าต้องการจะไปทำตรงนั้นต้องมีทักษะอะไรบ้าง อาจจะเรียนเก็บไปเรื่อยๆ หรือบางคนต้องการเรียนควบคู่กับทำงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้นโดยให้เรียนเสริมกับนิด้า แล้วก็เก็บไว้ในธนาคารหน่วยกิตการศึกษา เมื่อสะสมได้ตามเกณฑ์ ก็สามารถนำไปสอบเพื่อรับคุณวุฒิในระดับหรือสาขาวิชาที่ได้สะสมผลการเรียนรู้”

ธนาคารหน่วยกิตการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยในเมืองไทยหลายแห่งได้นำไปบรรจุไว้ในการเรียนการสอนแล้ว โดยนักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนต่อเนื่อง 4 ปี แต่สามารถสะสมได้ทั้งผลการเรียนจากการศึกษาในระบบและนอกระบบ จากการศึกษาตามอัธยาศัย หรือจากการเรียนรู้จากประสบการณ์และอาชีพ เป็นการทำงานพร้อมกับการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด

รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี

นิด้ายังมีแนวทางพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และสร้างหลักสูตรฝึกอบรมร่วมกับองค์กรภายนอก เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกช่วงวัย

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ นิด้า กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสถาบันเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้และปัญญา เปิดสอนเฉพาะหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา อาทิ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อรองรับแผนพัฒนาประเทศฉบับต่างๆ

“จากพระราชดำรัสของพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถึงการพัฒนาประเทศว่า ในการทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานและนักพัฒนาที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงโดยมีข้อมูลและสถิติเป็นฐานสำคัญในการตัดสินใจและปฎิบัติงาน ทรงมีพระราชดำริให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ตั้งคณะสถิติประยุกต์ ในเวลาต่อมายังมีการนำวิธีคิดทางสถิติประยุกต์มาใช้เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการทำงานของศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ และได้รับการยอมรับจากประชาชนถึงรายงานผลสำรวจที่มีความแม่นยำสูงสุด”

นอกจากนิด้าโพล จุดเด่นในด้านองค์ความรู้ของสถาบันมาจากวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศ มุ่งเน้นให้ผู้ที่เรียนจบเป็นทั้งนักพัฒนาและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะคณาจารย์ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และมีภารกิจหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการแก่สังคม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นิด้ามีความร่วมมือทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศจะเห็นว่าอาจารย์นิด้ามีบทบาทในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง ขณะเดียวกันความเป็นสถาบันหรือมหาวิทยาลัยจะเป็น Stand Alone ไม่ได้ จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

“ยกตัวอย่างคือเรามีความเชี่ยวชาญงานวิชาการเศรษฐกิจ มีความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำจุดเด่นของหลักสูตการเรียนการสอนทั้งสองสถาบันมาออกแบบเป็นหลักสูตรวิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering) และหลักสูตร (HRFin) Human Resource and Food Innovation ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาขึ้นสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เป็นการเรียนรู้เรื่องบริหารจัดการองค์กรและคนในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น”

“สำหรับความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น จัดทำหลักสูตรพัฒนาผู้นำร่วมกับ Singapore Management University (SMU) ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่การเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจในอาเซียน ขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับไทย ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนั้นยังมีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เช่น มีข้อเสนอจาก กลุ่มนักวิชาการอินโดนีเซีย ที่จะทำวิจัยเชิงเปรียบเทียบ ใน หัวข้อ Democracy Transformation การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศ ฯลฯ ล่าสุด เรากำลังทำเวทีเรียนรู้ร่วมกับกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ เกี่ยวกับเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และ เร็วๆนี้เรากำลังสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจีนอย่างเอาจริงเอาจังด้วย”

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ นิด้า ทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นที่ยอมรับกันว่า การศึกษาระดับปริญญาตรีคงไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขันของโลกปัจจุบัน เคยมีคำกล่าวของ ศ.เสน่ห์ จามริก เปรียบเทียบระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาว่าเป็นเสมือนระบบบันไดดารา ต้องการปั้นคนออกมาเป็นแรงงานชั้นนำ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ใครขึ้นบันไดดาราไม่ได้ก็ตกลงมากลายเป็นคนที่มีความล้มเหลวในชีวิต

“ถ้าการศึกษาวัดเป็นขั้นบันได เวลานี้บนขั้นบันไดนี้ มีคนไปกองกันอยู่ที่ปริญญาตรีจำนวนมาก ดังนั้น ใครที่ต้องการความก้าวหน้าไปอีกระดับต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการศึกษาต่อระดับปริญญาโท แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเพราะบางบางคนอาจมีความคิดว่าเรียนจบปริญญาตรีก็นับว่าเพียงพอแล้ว แต่ในโลกปัจจุบันมันพิสูจน์แล้วว่า ไม่จริง ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็มีความสำคัญ ต้องคำนึงถึงการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอกที่ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์สังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง”

“ความเห็นส่วนตัวคือสนับสนุนให้คนในครอบครัวศึกษาต่อมากกว่าเพียงปริญญาตรี หากต้องการความก้าวหน้าในชีวิต ขณะเดียวกันโลกปัจจุบันให้ความสำคัญที่ทักษะไม่ใช่แค่ที่ดีกรีหรือใบปริญญา นั่นหมายถึงว่า ถ้าเรียนจบปริญญาตรีแล้วมีทักษะที่ดี ก็มีความก้าวหน้าได้โดยไม่ต้องเรียนต่อระดับปริญญาโท แล้วก็ยังมีหลายคนที่มีใบปริญญาแต่ทำงานไม่เป็น เพราะไม่มีทักษะ”

“ใบปริญญาที่ดีควรต้องเป็นใบปริญญาที่เป็นการออกแบบ พัฒนาและบริหารจัดการหลักสูตรให้คนมีทั้งความรู้และความสามารถทำงานเป็น ที่เรามักจะได้ยินจากคำพูดนายจ้างที่ว่า ลูกน้องเรียนจบปริญญาโทแต่ทำงานไม่เป็น แสดงถึงการเรียนจบในหลักสูตรที่ออกแบบและบริหารจัดการไม่ดี เพราะหากหลักสูตรออกแบบและบริหารจัดการดี ต้องสามารถผลิตบุคลากรให้มีความรู้และทักษะสามารถทำงานเป็น”

“ตอนนี้ที่นิด้า เราให้ความสำคัญอย่างมากกับควบคุมคุณภาพการออกแบบและบริหารจัดการการเรียนรู้หลักสูตรระดับปริญญาโทและเอกที่มีคุณภาพ มีความทันสมัยและตอบโจทย์โลกแห่งการทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งหลักสูตรการเรียนรู้ระยะสั้น เพื่อเสริมทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ๆ โดยสามารถค้นหาติดตามข้อมูลได้ที่ www.nida.ac.th”

แหล่งที่มา

https://www.matichon.co.th/education/news_4092181

บทความข่าวสารอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ restaurantguidetoronto.com

แทงบอล

Releated